Friday, October 29, 2010

บึงชีขัน

ภายในพระนครตอนหน้าพระราชวังด้านใต้มีบึงใหญ่ บึงตอนเหนือเรียกว่า บึงญี่ขัน ตอนใต้เรียกว่า บึงพระราม เห็นว่าชื่อทั้ง ๒ นี้คงจะเป็นชื่อเพี้ยนชื่อหนึ่ง ชื่อใหม่ชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงญี่ขัน นั้นคงจะเป็น ชีขัน ซึ่งมีชื่อมาในกฎมณเฑียรบาลอีกชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงพระราม นั้นก็คือเป็นบึงในบริเวณชีขันนั้นเอง แต่อยู่ตรงหน้าวัดพระราม แต่เดิมมาบางทีจะเรียกตอนนั้นว่า บึงหน้าวัดพระราม เพราะประสงค์จะให้เข้าใจที่ให้ง่ายขึ้น ภายหลังมาก็เรียกห้วนเข้าแต่ว่าบึงพระราม ทิ้งคำว่า หน้าวัด เสีย จึงเลยเป็นชื่อของบึงนั้นว่า บึงพระราม ต่อมา
บึงชีขันนี้พิเคราะห์ดู เห็นว่าเดิมจะเป็นหนองเป็นที่มีน้ำขังอยู่แล้ว หรือจะคิดให้สูงขึ้นไปจะว่าเป็นตัว "หนองโสน" ตามที่มีชื่อมาในพระราชพงศาวดารจะได้ดอกกระมัง แต่ไม่มีพะยานหลักฐานอะไรนอกจากลองนึกเดา บึงนี้เดิมทีก็จะเล็ก ต่อมาเมื่อสร้างกรุง คงจะขุดเอาดินในที่แถวนี้ขึ้นถมเป็นพื้นวังและพื้นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม จึงกลายเป็นใหญ่โตไป ดินที่เว้นไว้เป็นทางคนขนมูลดินเดิน ก็เลยทำเป็นถนนรีถนนขวางข้ามบึงปูอิฐตะแคงเสียทั้ง ๓ สาย เจาะช่องสำหรับให้เรือเดินไปมาได้ถึงกันตลอดบึง ตามหลังช่องนั้นคิดดูเห็นจะมีสะพานไม้ สำหรับให้คนเดินไปมาตามถนนได้ตลอด และมีทางน้ำที่จะเอาเรือนอกพระนครเข้าไปในบึงได้ ๒ ทาง ด้านใต้คลองประตูจีน คลองประตูเทพหมี คลองฉะไกรน้อย มารวมกันเข้าที่ข้างวัดสะพานนาคทางหนึ่ง ด้านตะวันออกเข้าช่องแยกจากคลองประตูข้าวเปลือก ข้างวัดมหาธาตุทางหนึ่งในบึงมีวัดอยู่ตามเกาะหลายวัด และตึกดินก็อยู่บนเกาะในบึงนี้ด้วย
ที่ขอบบึงตรงหน้าวัดพระรามออกไปมีตึก หลังหนึ่งเป็นตึกสองชั้น ตามช่องประตูหน้าต่างก่อเป็นโค้งคูหา มีทางขึ้นข้างหน้าและข้างๆตึก ตึกนี้ชาวบ้านบางคนว่าเป็นตึกพระราชาคณะผู้ครองอาวาสวัดพระราม แต่พิเคราะห์ดูเห็นจะไม่ใช่ของสำหรับวัด เพราะอยู่นอกกำแพงวัดเเละเป็นตึกสูง น่าจะเป็นพระที่นั่งสำหรับเสด็จขึ้นไปประทับทอดพระเนตรเรือ ซึ่งจะโปรดให้มีประชุมเล่นเพลงสักวาในคราวนักขัตฤกษ์ฤดูน้ำบ้างในบางปี

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

สะพานในเมือง

ตามข้างคลองเหล่านี้ ในที่ใดถ้ามีถนนผ่านมา ก็มีสะพานข้ามคลองทุกสาย ถ้าเป็นถนนใหญ่ก็เป็นสะพานเชิง ๒ ข้างก่ออิฐ กลางเห็นจะปูกระดาน เช่น สะพานป่าถ่าน สะพานชีกุน สะพานข้ามคลองในไก่ สะพานหน้าวัดบรมพุทธาราม สะพานรำเพย(เห็นจะเป็นสะพานหน้าหับเผย เพราะถนนนั้นมาหน้าคุก) แต่บางสะพาน เช่น สะพานประตูจีน สะพานประตูเทพหมีนั้น ก่ออิฐตลอด กลางคลองเจาะเป็นช่องโค้งคูหา กลางใหญ่ ๒ ข้างเล็ก เป็น ๓ ช่อง สำหรับให้เรือลอดไปมาได้ และยังมีอีกสะพานหนึ่งซึ่งว่าเป็นสะพานใหญ่ในพระนคร คือสะพานช้างต่อถนนป่ามะพร้าวข้ามคลองประตูข้าวเปลือก ตรงหน้าวัดพลับพลาชัย สะพานนี้เชิงก่อด้วยแลง และเมื่อครั้งพระนารายณ์เสด็จส่งพระเป็นเจ้า ว่าพวกวังหลังแอบซุ่มจะคอยทำร้ายในที่นี้ กับคราวเมื่อพระบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ ขุนศรีคงยศ พวกเจ้าฟ้าอภัยตั้งค่ายปิดเชิงสะพานฝั่งตะวันตกไว้ จะไม่ให้พวกวังหน้าข้ามไปได้ กับอีกสะพานหนึ่งซึ่งมีชื่อมีชื่อแปลกกว่าสะพานเหล่านี้ เป็นสะพานข้ามคลองท่อเข้ามาในวังตอนข้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตยาสน์ แต่เยื้องออกไปข้างเหนือ เรียกว่า สะพานสายโซ่ เชิง ๒ ข้างก่ออิฐ ตัวสะพานจะเป็นอย่างไรตำราไม่ได้กล่าวไปถึง แต่ลองคิดดูน่าจะเป็นสะพานหกได้ดอกกระมัง เพราะสะพานหกก็ใช้สายโซ่ และเห็นเข้าทีที่ว่าเป็นสะพานเข้าใกล้วัง ถ้าทำเป็นสะพานช้างตายตัวและมีเหตุการณ์ขึ้น สัตรูจะข้ามเข้าประชิดวังได้ง่าย ถ้าเป็นสะพานหกเปิดได้แล้ว ถึงจะเกิดสัตรูและถ้ารู้ล่วงหน้าก็จะชักสะพานนั้นออกเสีย ไม่ให้เป็นทางเดินเข้ามาประชิดวังได้ แต่สะพานข้ามคลองอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ เห็นจะเป็นสะพานไม้ เพราะไม่ได้พบรากอิฐที่เชิงสองข้างนั้น

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

ป้อมตามกำแพงเมือง

ตามแนวกำแพงมีป้อมเป็นระยะรอบพระนคร ตามที่ตรวจพบแล้วในเวลานี้มี ๑๖ ป้อม เข้าใจว่าจะมีมากกว่านี้ แต่ไม่มีเวลาพอที่จะขุดค้นได้ตลอด ภายหลังเมื่อตรวจตราได้ความอย่างไร จะได้เพิ่มเติมต่อไป ป้อมรนั้นถ้าอยู่ในที่สำคัญ เช่นตรงแม่น้ำหรือทางร่วม ก็เป็นป้อมใหญ่ก่ออย่างแข็งแรง แต่ป้อมเดหล่านี้ยังเหลือพอที่จะเห็นซวดทรงสัณฐานได้ ๒ แห้งคือ ป้อมเพ็ชรแห่งหนึ่ง เป็นป้อมใหญ่ก่อสำหรับป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำตรงมุมพระนครด้านใต้ ป้อมนี้ก่อยื่นออกไปจากแนวกำแพงหนา ๓ วามีเศษ กลางป้อมเป็นพื้นดินว่าง มีบันไดอิฐขึ้นเทิงเชินในป้อม ตามเหลี่ยมป้อมที่พื้นดินมีประตูคูหาก่อเป็นรูปโค้ง มีรอยติดบานที่จะใช้เปิดปิดเข้าออกได้ คูหากว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก บนหลังคูหามีช่องกลวงตลอดขึ้นไปถึงเชิงเทินกับป้อมริมประตูข้าวเปลือกอีก แห่งหนึ่ง เป็นป้อมคู่ตั้งอยู่ ๒ ฟากคลอง แต่เล็กกว่าป้อมเพ็ชร ก่อย่อเหลี่ยมเข้าเป็นท่าบรรจบกัน บนป้อมเป็นพื้นอิฐ ตลอดตามเหลี่ยมป้อมมีประตูคูหาโค้งเหมือนป้อมเพ็ชร เข้าใจว่าเมื่อมีข้าศึกมาติดพระนคร คงจะลากปืนใหญ่ออกตั้งยิงป้องกันตามช่องคูหา แต่ถ้าเมื่อเห็นจะเสียท่วงที ก็คงลากถอยปืนใหญ่ไปในป้อมเอาไม้แก่นปักลงในช่องว่างเป็นระเนียดปิดช่องคูหา กันหน้าบานประตู ส่วนบนป้อมก็คงจะตั้งปืนใหญ่ได้ ด้วยมีที่กว้าง

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

Wednesday, October 27, 2010

ขยายกำแพงเมืองด้านตะวันออก

กำแพงเดิมก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้านเหนือตั้งแต่หน้าพระราชวัง คงจะไปตามแนวถนนป่ามะพร้าวแล้วไปเลี้ยวมรามุมใต้ประตูหอรัตนชัย วกลงไปข้างในห่างจากถนนรอบกรุงเดี๋ยวนี้ถึงป้อมเพ็ชร แต่ป้อมเพ็ชรมาตามทางริมน้ำทิศใต้ทิศตะวันตกบรรจบ ทิศเหนือจดคลองท่อ ที่ซึ่งเป็นวังจันทรเกษมเดี๋ยวนี้อยู่นอกพระนคร จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง และเหตุที่กำแพงเดิมอยู่หังวังจันทร์เกษมห่างจากแม่น้ำเดี๋ยวนี้เข้าไปมาก นั้น ก็เห็นจะเป็นด้วยครั้งแรกสร้างกรุงที่แถวนั้นจะเป็นหาดทรายและลำลาบลุ่มมาก เพราะในเวลานี้เมื่อขุดดินลงไปลึกสักศอกเศษ ก็พบพื้นล่างเป็นทราย ครั้นมาภายหลังที่ดอนขึ้น ชานพระนครกว้างออกไป จึงได้สร้างพะเนียดที่จับช้างขึ้นระหว่างวังจันทร์เกษม กับที่ซึ่งเป็นวัดขุนแสนวัดซองเดี๋ยวนี้ และบางทีก็จะได้ใช้เป็นที่ทอดปล่อยเลี้ยงช้างหลวงด้วย ครั้นมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เกิดศึกหงสาวดีติดพระนคร คงจะทรงเห็นว่า การที่ไว้ชานพระนครกว้าง ปล่อยให้กำแพงกับคูห่างกัน ย่อมเป็นทางให้ข้าศึกข้ามคูเข้ามาถึงกำแพงได้ง่าย เพราะไกลทางปืน จึงโปรดให้ขยายกำแพงพระนครออกไปตั้งถึงขอบริมน้ำ แต่ครั้งนั้นเห็นจะยังไม่แล้วเสร็จมาเมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงปรากฏว่าได้ทำกำแพงอีกคราวหนึ่ง ก็เห็นจะทำเพิ่มเติมกำแพงที่ค้างมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นเอง กำแพงใหม่ตอนที่ยกออกมานี้ แยกจากกำแพงเก่าที่ท่าสิบเบี้ย วงเอาวัดราชประดิษฐานและที่ซึ่งภายหลังเป็นวัดขุนแสน วังจันทร์เกษมไว้ข้างใน แล้ววกลงไปบรรจบป้อมเพ็ชร ซึ่งเป็นถนนรอบกรุงที่ใช้เดินกันไปมาอยู่ทุกวันนี้ ส่วนกำแพงเดิมที่อยู่ภายในหลังวังจันทร์เกษมเข้าไปคงจะรื้อปราบลงเป็นถนนใน พระนคร คงเป็นถนนป่ามะพร้าวข้างวัดพลับพลาชัยแน่

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

กำแพงพระนคร

กำแพงพระนครในชั้นแรกสร้างกรุงเห็นจะยังไม่ได้ก่อด้วยอิฐ เข้าใจว่าจะเป็นแต่เชิงเทินดิน ใช้ขุดดินทางริมน้ำกับข้างใยขึ้นถม คูที่ขุดเอาดินขึ้นมาทางข้างในกำแพงเดี๋ยวนี้ยังปรากฏอยู่ กำแพงอิฐจะมาก่อขึ้นต่อหลัง เพราะรากกำแพงอิฐที่พบในเวลานี้อยู่บนเชิงเทินดิน สูงกว่าระดับดินธรรมดาตั้งแต่วาหนึ่งถึง ๖ ศอก ตัวเชิงเทินดินที่เป็นพื้น ตั้งกำแพงกว้างอย่างน้อยราว ๘ วา กำแพงหนา ๒ วาเศษ ก่ออิฐ ๒ ข้างไว้ช่องกลางถมดินกับอิฐหัก ส่วนสูงตั้งแต่เชิงกำแพงถึงปลายใบเสมา คะเนว่าบางแห่งถ้าในที่ต่ำคงจะราว ๓ วา ถ้าที่สูงคงจะราว ๑๐ ศอกเศษ เพราะพบเศษกำแพงที่เหลือจากรื้ออยู่ที่วัดท่าทรายแห่งหนึ่ง สูงจากพื้นดิน ๙ ศอกเศษเกือบคืบ กับที่ใต้วัดจีนเยื้องหน้าวัดสุวรรณมีประตูช่องกุฏอยู่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ตรงนั้นเป็นที่ดอนกำแพงสูง ๖ ศอกคืบมีเศษ ที่คิดว่ากำแพงตอนนั้นสูงเท่านี้ก็เพราะด้วยกำแพงที่เหลืออยู่นั้น สูงพ้นหลังประตูช่องกุฏขึ้นไปอีกศอกเศษ ซึ่งคะเนว่าเกือบจะถึงที่ตั้งใบเสมา เพราะธรรมดาประตูช่องกุฏก็อยู่ไล่เลี่ยหรือต่ำกว่าพื้นเชิงเทินำปเพียงนิด น้อย พ้นเชิงเทินขึ้นไปไม่กี่มากน้อยก็ถึงที่ตั้งเสมา กับได้ขุดพบเสมากำแพงเมืองยังเป็นรูปดีอยู่เสมาหนึ่ง กว้างศอกคืบ หนา ๒ ศอก สูง ๒ ศิกคืบ ถ้าเอาส่วนของใบเสมาบวกเข้ากับกำแพงตรงวัดท่าทราย ก็คงได้ราว ๓ วา กำแพงใต้วัดจีนราว ๑๐ ศอก ถึงจะยิ่งหย่อนกว่านี้ไปบ้างก็ไม่สู้มากนัก แต่ถ้าคิดเอาส่วนสูงของกำแพง ตั้งแต่ระดับดินไปจนขาดปลายเสมา คงจะสูงเสล ๔ วาทั้งหมด แนวกำแพงพระนครวัดได้ ๓๑๐ เส้น ในเมืองวัดตามกว้างในที่คอดได้ ๔๐ เส้น ตามยาวได้ ๙๘ เส้น

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

กรุงเทพทวาราวดี

กรุงเทพทวาราวดีซึ่งเป็นเมืองหลวงภายหลัง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งเป็นที่แผ่นดินแหลมแม่น้ำลพบุรี ด้านเหนือด้านใต้ด้านตะวันตกจดแม่น้ำ แต่ด้านตะวันออกเป็นพื้นดินเดียวกันกับกรุงศรี อยุธยา เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างกรุงแล้วจึงได้ปรากฏว่า ด้านตะวันออกนี้มีแต่คู หาแม่น้ำมิได้ คูนี้เป็นคูแยกจากแม่น้ำลพบุรีแต่ตำบลหัวรอ ไปบรรจบแม่น้ำบางกะจะ ป้อมเพ็ชร์เรียกว่าคูขื่อหน้า แต่ชั้นเดิมคงจะแคบ มาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี จึงโปรดให้ขุดขยายออกไปเป็นกว้าง ๑๐ วา ลึก ๓ วา เพราะเข็ดเมื่อครั้งในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช คูขื่อหน้าแคบ ทัพหงสาวดีจึงถมถนนข้ามเข้ามาตีกรุงได้

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

ภูมิสถานพระนคร

กรุงศรี อยุธยา นั้น ตั้งอยู่ข้างฟากตะวันออกของกรุงเทพทวาราวดี คงจะอยู่ทางสเตชั่นรถไฟเก่า ออกไปในแถวที่วัดสมณโกษ วัดกุฎีดาว และวัดศรีอโยธยา ซึ่งมาภายหลังเรียกกันว่าวัดเดิม เมืองคงจะหันหน้าไปทางตะวันออกลงแม่น้ำหันตรา แต่กำแพงป้อมปราการเห็นจะไม่ใช่ก่อด้วยอิฐ คงเป็นเชิงเทินดิน เมื่อเมืองร้างแล้วก็มีคนถากถางเกลี่ยทำเป็นไร่นา และทั้งปราสาทราชฐานก็คงจะเป็นเครื่องไม้ จึงมิได้มีสิ่งใดเหลือ

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net