ภายในพระนครตอนหน้าพระราชวังด้านใต้มีบึงใหญ่ บึงตอนเหนือเรียกว่า บึงญี่ขัน ตอนใต้เรียกว่า บึงพระราม เห็นว่าชื่อทั้ง ๒ นี้คงจะเป็นชื่อเพี้ยนชื่อหนึ่ง ชื่อใหม่ชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงญี่ขัน นั้นคงจะเป็น ชีขัน ซึ่งมีชื่อมาในกฎมณเฑียรบาลอีกชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงพระราม นั้นก็คือเป็นบึงในบริเวณชีขันนั้นเอง แต่อยู่ตรงหน้าวัดพระราม แต่เดิมมาบางทีจะเรียกตอนนั้นว่า บึงหน้าวัดพระราม เพราะประสงค์จะให้เข้าใจที่ให้ง่ายขึ้น ภายหลังมาก็เรียกห้วนเข้าแต่ว่าบึงพระราม ทิ้งคำว่า หน้าวัด เสีย จึงเลยเป็นชื่อของบึงนั้นว่า บึงพระราม ต่อมา
บึงชีขันนี้พิเคราะห์ดู เห็นว่าเดิมจะเป็นหนองเป็นที่มีน้ำขังอยู่แล้ว หรือจะคิดให้สูงขึ้นไปจะว่าเป็นตัว "หนองโสน" ตามที่มีชื่อมาในพระราชพงศาวดารจะได้ดอกกระมัง แต่ไม่มีพะยานหลักฐานอะไรนอกจากลองนึกเดา บึงนี้เดิมทีก็จะเล็ก ต่อมาเมื่อสร้างกรุง คงจะขุดเอาดินในที่แถวนี้ขึ้นถมเป็นพื้นวังและพื้นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม จึงกลายเป็นใหญ่โตไป ดินที่เว้นไว้เป็นทางคนขนมูลดินเดิน ก็เลยทำเป็นถนนรีถนนขวางข้ามบึงปูอิฐตะแคงเสียทั้ง ๓ สาย เจาะช่องสำหรับให้เรือเดินไปมาได้ถึงกันตลอดบึง ตามหลังช่องนั้นคิดดูเห็นจะมีสะพานไม้ สำหรับให้คนเดินไปมาตามถนนได้ตลอด และมีทางน้ำที่จะเอาเรือนอกพระนครเข้าไปในบึงได้ ๒ ทาง ด้านใต้คลองประตูจีน คลองประตูเทพหมี คลองฉะไกรน้อย มารวมกันเข้าที่ข้างวัดสะพานนาคทางหนึ่ง ด้านตะวันออกเข้าช่องแยกจากคลองประตูข้าวเปลือก ข้างวัดมหาธาตุทางหนึ่งในบึงมีวัดอยู่ตามเกาะหลายวัด และตึกดินก็อยู่บนเกาะในบึงนี้ด้วย
ที่ขอบบึงตรงหน้าวัดพระรามออกไปมีตึก หลังหนึ่งเป็นตึกสองชั้น ตามช่องประตูหน้าต่างก่อเป็นโค้งคูหา มีทางขึ้นข้างหน้าและข้างๆตึก ตึกนี้ชาวบ้านบางคนว่าเป็นตึกพระราชาคณะผู้ครองอาวาสวัดพระราม แต่พิเคราะห์ดูเห็นจะไม่ใช่ของสำหรับวัด เพราะอยู่นอกกำแพงวัดเเละเป็นตึกสูง น่าจะเป็นพระที่นั่งสำหรับเสด็จขึ้นไปประทับทอดพระเนตรเรือ ซึ่งจะโปรดให้มีประชุมเล่นเพลงสักวาในคราวนักขัตฤกษ์ฤดูน้ำบ้างในบางปี
แผนผังเว็บไซต์
ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net
No comments:
Post a Comment