Wednesday, October 27, 2010

ตอนที่ 1 : ประวัติกรุงเก่าจากพระราชพงศาวดาร

เมืองหนึ่งซึ่งอยู่เหนือจากกรุงเทพมหานครขึ้นไปที่เรียกกันว่ากรุงเก่าใน เวลานี้ ใช่จะได้เป็นเมืองหลวงของประเทศสยามเฉพาะแต่ครั้งที่สมเด็จพระรามา ธิบดี(อู่ทอง) เสด็จมาสร้างเป็นพระนครขึ้นที่หนองโสนเป็นคราวแรกก็หาไม่ ตามตำราโบราณมีพระราชพงศาวดารเหนือเป็นต้น กล่าวความชัดเจนว่า เมืองนี้ก่อนแต่ศักราช ๓๐๐ ขึ้นไป ก็เคยได้เป็นเมืองหลวงของประเทศสยามชื่อว่ากรุงศรี อยุธยา มีกษัตริย์ทรงปกครองสืบต่อมาเป็นหลายพระองค์ แต่ความในพระราชพงศาวดารฉะบับนั้น บกพร่องไม่ใคร่จะติดต่อกันได้ ลงท้ายชื่อกรุงศรี อยุธยา สูญหายกลายเป็นเมืองเรียกว่า เมืองเสนาราชนคร จึงเห็นว่าคงจะเป็นด้วยกรุงศรี อยุธยา เสื่อมถอยลง เมืองอื่นมีอำนาจเข้มแข็งก็แผ่ลงมาได้ไปเป็นเมืองขึ้น จึงได้ลดจากกรุงลงมาเป็นเมืองไป ครั้งเมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปี พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงราย ซึ่งเสวยราชสมบัติในเมืองเทพนคร เมืองนี้ทีจะอยู่ใกล้กับเมืองที่มีอำนาจ จะเป็นที่คับแคบ ซึ่งพระเจ้าอู่ทองจะขยายแดนออกไปอีกไม่ได้ หรือกลัวเมืองอื่นจะมาทำอันตรายได้ง่ายในอย่างใด จึงได้เสด็จลงมาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่ตำบลหนองโสนข้างทิศตะวันตกกรุงศรี อยุธยา ซึ่งไม่ได้ไปตั้งที่กรุงเดิมนั้น ก็คงจะทรงเห็นว่ากรุงศรี อยุธยา ได้แม่น้ำแต่ด้านเดียว ที่ๆสร้างกรุงใหม่ได้แม่น้ำถึง ๓ ด้าน เมื่อสร้างกรุงแล้วจึงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรี อยุธยา ต่อมาเรียกกรุงเทพทวาราวดีบ้าง กรุงศรี อยุธยา บ้าง แต่ชื่อศรี อยุธยา เป็นที่นิยมใช้กันมาก ตลอดถึงต่างประเทศ และพม่า มอญ เขมรลาว ก็เรียกเมืองไทยว่ากรุงศรี อยุธยา แต่ฝรั่งใช้คำห้วนเรียกว่า อยุธยา ก็เพราะด้วยศรี อยุธยา เคยเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศสยามมาช้านานแล้ว พระเจ้าอู่ทองเสด็จมาครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดี เฉลิมพระนามบรมนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี คือประกาศแสดงความอิสรภาพของประเทศเป็นเอกราช เมื่อสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง)แล้ว ก็มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมา ยกเสียแต่ขุนวรวงศาธิราช ซึ่งไม่นับเข้าในลำดับกษัตริย์ในพระราชพงศาวดาร ได้ ๑๕ พระองค์ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในระหว่าง ๑๕ รัชกาลนี้ บางแผ่นดินก็ได้มีการยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองและประเทศที่ใกล้เคียง คือ หัวเมืองเหนือและลาว เขมร มลายู หลายครั้ง
อนึ่งในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระ มหาจักรพรรดินั้น กษัตริย์กรุงหงสาวดีทรงพระนามว่าตะเบงซวยตี้ พงศาวดารมอญเรียกพระเจ้ามังส่วย หรืออีกนัยหนึ่งวว่ามังโสถิ์ ตั้งต้นก่อสงครามยกทัพพม่ามอญเข้ามาตีกรุงเทพทวาราวดีถึง ๒ ครั้งก็หาได้ไม่ มาภายหลังเมื่อพระเจ้าตะบเงซวยตี้ดับสูญไปแล้ว บุเรงนองเชื้อพระวงศ์ได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี ในพงศาวดารมอญเรียกพระเจ้าฝรั่งมังตรี หรืออีกนัยหนึ่งเรียกพระเจ้าชนะสิบทิศ เพราะเป็นผู้มีอำนาจมาก ยกทัพพม่ามอญมาตีกรุงทวาราวดีอีก ๒ ครั้ง ครั้งหลังตีได้ในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปี พระเจ้าหงสาวดีจึงตั้งให้พระมหาธรรมราชาครองราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ นับเป็นพระองค์ที่ ๑ ในพระนามนี้ ครั้งนั้นกรุงเทพทวาราวดีก็ตกไปอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี
มาจนถึงศักราช ๙๒๗ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงพระอุตสาหะเริ่มก่อกู้เอาประเทศสยามออกพ้นจาก อำนาจกรุงหงสาวดี กลับตั้งขึ้นเป็นเอกราชและมีอำนาจใหญ่ ได้ทำสงครามกับมอญพม่า มีชัยได้แผ่นดินมอญมาเป็นเมืองขึ้น ล่วงมาได้ ๑๕ แผ่นดิน ในระหว่างนี้ก็มีแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่ได้ทรงแต่งกองทัพไปตีเมือง พม่ากับเมืองเชียงใหม่
ถึงในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาพระองค์ที่ ๓ นับตามลำดับกษัตริย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓ พระนามเดิมเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วมีพระนามวิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ที่ออกพระนามดังนี้ ก็เป็นด้วยเหตุที่โปรดประทับอยู่ในพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ คนทั้งหลายจึงได้เรียกพระนามพระที่นั่ง ในครั้งนั้นข้างฝ่ายพม่า มังลองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีชื่อใหม่ว่า พระเจ้าอลองพรายี ยกมาตีกรุงเทพทวาราวดี ครั้งที่ ๑ไม่ได้ เลิกทัพกลับไปดับสูญกลางทาง ภายหลังมังระราชบุตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่า จึงแต่งให้มังมหานอรธากับเนเมียวเป็นแม่ทัพยกเข้ามาตีกรุงอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัทรินทร์เสวยราชสมบัติได้ ๙ พรรษา เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปี กรุงเทพทวาราวดีก็เสียแก่กองทัพทัพพม่าข้าศึก พม่าเก็บริบทรัพย์สมบัติและเครื่องศาสตราวุธ แล้วเอาไฟเผาพระราชวังและวัดวาอารามบ้านเรือนข้าราชการเป็นอันตราย กวาดต้อนพระราชวงศานุวงศ์ ครอบครัวข้าราชการ ราษฎรไปเมืองอังวะ ประมาณ ๓๐๐๐๐ เศษ
แต่ที่แตกหนีเที่ยวเร้นซ่อนตามป่าดงและหัวเมืองต่างๆ ทั้งอดอยากล้มตายเสียก็มาก แม่ทัพพม่าตั้งให้พระนายกองอยู่รักษากรุง สำหรับรวบรวมผู้คนซึ่งยังแตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในที่ต่างๆ พระนายกองตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น พระนายกองคนนี้เป็นมอญเก่าอยู่ในกรุง มีความชอบที่เจ้ารับอาสาพม่าไปตีค่ายบางระจันแตก และคงจะทำการรบพุ่งในที่อื่นแข็งแรงจนพม่าไว้ใจ จึงตั้งให้เป็นที่สุกี้ คำไทยเรียกว่าพระนายกอง
คิดอายุกรุงเทพทวาราวดีแต่แรกที่สมเด็จพระรามา ธิบดี(อู่ทอง)ทรงตั้งเป็นเอกราช มาจนเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองกรุงหงสาวดีในแผ่นดินพระมหินทราธิราชนับได้ ๒๐๖ ปี ตกไปอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี ๙ ปี เมื่อจุลศักราช๙๒๗ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงก่อกู้ ขาดจากอำนาจกรุงหงสาวดีกลับเป็นเอกราชมาจนเสียกรุงแก่พม่าข้าศึก ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอบยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ นับได้ ๒๐๒ ปี รวมอายุกรุงเทพทวาราวดีแต่แรกสร้างจนเสียแก่พม่าปัจจามิตร ๓ ยุคได้ ๔๑๗ ปี

แผนผังเว็บไซต์

ข้อมูลเพิ่มเติม : บล็อก
ayutthaya - อยุธยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า yutya by yutya.net

No comments:

Post a Comment